10 January 2010

Sushi ..すごい!/ すげえ!

SuShi「寿司]
美味
しい - おいしい




อาหารญี่ปุ่นแพร่หลายเป็นที่นิยมทั่วกรุง ปรากฏการณ์นี้ออกจะน่าประหลาดไม่น้อย เดี๋ยวนี้แม้กระทั่งตลาดนัดหรือตามทางเท้าริมถนนก็มีแผงขายซูชิชิ้นละไม่กี่บาทวางเกลื่อน ไม่ต้องพูดถึงภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นที่ผุดขึ้นมาทุกหัวระแหง มีทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับปลายแถวไปจนกระทั่งถึงภัตตาคารห้าดาว บางแห่งมีข่าวถึงขนาดว่าเจ้าของร้านบินไปซื้อปลาสดๆ ที่ญี่ปุ่นมาทำข้าวปั้นและปลาดิบด้วยตัวเอง


อาหารมื้อหนึ่งตามภัตตาคารหรูๆ อาจจะสูงถึงหัวละ 4,000-5,000 บาท คงไม่เกินจริงถ้าจะพูดว่าซูชิได้กลายเป็นของกินสุดฮิตและสุดฮิปของคนกรุงใน พ.ศ.2552 ไปแล้ว แต่เรื่องราวความนิยมอาหารญี่ปุ่นในต่างแดนทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยแห่งเดียว หนังสือ The Sushi Economy หรือเศรษฐศาสตร์ซูชิ โดย Sasha Issenberg ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนกำลังจะตีพิมพ์ บอกเล่าความเป็นมาและความแพร่หลายของซูชิ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเอาไว้อย่างน่าสนใจ หลายเรื่องอยู่นอกเหนือความคาดหมาย ประวัติซูชิยังแสดงถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนตัวเองของอาหารประจำชาติญี่ปุ่นให้เข้ากับเวลาและสถานที่





ซูชิอย่างที่เรารู้จัก คือ ข้าวปั้นนิงิริ ที่ทำสดต้องอาศัยวัตถุดิบสดใหม่ ยิ่งสดเท่าไรยิ่งดี แต่ความคิดนี้กลับขัดแย้งกับต้นกำเนิดของซูชิซึ่งมาจากการหมักดองเพื่อยืดอายุอาหารเอโดะ-มาเอะ นิงิริ ซึ่งก็คือข้าวปั้นหน้าต่างๆ อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ 300 ปีที่แล้วนี่เองในสมัยเอโดะประมาณศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้านั้นปลาสดๆ จะถูกนำมาหมักใส่ไหทิ้งไว้จนรสชาติเข้าที่ คำว่า ซูชิ เขียนด้วยตัวอักษรคันจิได้หลายแบบ แต่ไม่ว่าจะเขียนวิธีไหนก็มาจากรากศัพท์คำเดียวกัน คือ ซุปปาชิ แปลว่า "เปรี้ยว" พูดง่ายๆ ว่าซูชิเป็นวิธีถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ซึ่งผลผลิตสมัยก่อนเกือบทั้งหมดต้องนำไปหมักดองเพื่อยืดอายุและเพิ่มรสชาติ น้ำส้มสายชู สาเก และผักดองได้รับความนิยมมากตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 จนมีผู้คิดเอาปลาและอาหารทะเลอื่นๆ เช่น ปลาหมึกสดไปหมักเกลือ ปล่อยให้จุลินทรีย์ย่อยสลายโปรตีนเป็นกรดอะมิโน ไม่นานหลังจากนั้นชาวญี่ปุ่นเริ่มทดลองหมักปลาด้วยวิธีอื่น และพบว่าสามารถใช้ข้าวหมักปลาแทนเกลือได้ดี แต่เมื่อจะรับประทานก็ตัดข้าวทิ้งจนกระทั่งราวศตวรรษที่ 16 จึงเริ่มหันมารับประทานข้าวที่หมักกับปลา แล้วหลังจากนั้นไม่นาน จึงมีข้าวปั้นหน้าปลาดิบเกิดขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ แต่ละท้องถิ่นก็พัฒนาสูตรของตนเองตามความนิยม



มีเรื่องเล่าขานมากมายเกี่ยวกับกำเนิดของเอโดะ-มาเอะ นิงิริ หรือข้าวปรุงด้วยน้ำส้มสายชูพอออกรสชาติแล้วปั้นเป็นก้อน มีหน้าเป็นอาหารทะเลขนาดพอคำ บ้างก็ว่าอดีตนักบวชนิกายชินโตรูปหนึ่งในศตวรรษที่ 17 เป็นผู้ให้กำเนิด หลวงพี่มีฝีมือในการทำซูชิหมักเกลือแบบดั้งเดิม ลูกค้าบางคนมาแล้วต้องผิดหวังเพราะขายดีจนทำไม่ทัน หลวงพี่เองก็เบื่อที่จะต้องคอยบอกลูกค้าว่าปลายังหมักไม่ได้ที่ ในที่สุดนักบวชท่านนี้เลยหันมาขายข้าวกับปลาสดๆ คู่กัน ทำไปขายไป อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่าเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเมืองเอโดะเมื่อปี ค.ศ.1957 มีผู้ทำอาหารฉุกเฉินแจกจ่ายให้ผู้รอดชีวิตในตอนนั้น ซึ่งก็คือข้าวปั้นหน้าต่างๆ ในหนังสือเศรษฐศาสตร์ซูชิผู้เขียนกล่าวว่า ไม่แน่ชัดว่าใครทำซูชิแบบนี้เป็นคนแรก แต่คนแรกที่เปิดร้านขายจนประสบความสำเร็จชื่อฮานาย่า โยเฮอิ เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ.1799 ร้านตั้งอยู่แถวถิ่นที่เรียกว่า ริวโกยุในโตเกียว ลูกค้านั่งบนเสื่อตาตามิรับประทานอย่างมีพิธีรีตอง แต่เมื่อฮานาย่า โยเฮอิถึงแก่กรรมในปี ค.ศ.1858


ซูชิกลับกลายเป็นอาหารที่รับประทานกันง่ายๆ ร้านทำเสร็จแล้วส่งไปให้ลูกค้าตามบ้าน หรือไม่ก็วางขายตามแผงริมถนน ซูชิกลายมาเป็นอาหารว่างที่ขาดไม่ได้ในยุคเอโดะ ขณะนั้นเมืองกำลังขยายตัว แรงงานหลั่งไหลเข้ามาจากชนบท ร้านขายอาหารและเครื่องดื่มราคาไม่แพงเปิดขึ้นมาให้บริการคนงาน ฮายะ-ซูชิเหมาะกับความต้องการของผู้บริโภคหน้าใหม่ๆ "หลังจากถือกำเนิดมาแค่ 40-50 ปี นิงิริซูชิก็เป็นที่นิยมยิ่งกว่าอูด้งหรือโซบะเสียอีก" นักเขียนคนหนึ่งในยุคนั้นให้ความเห็นไว้ ส่วนโมริซาดะ คิทากาวะ นักวิจารณ์สังคมฝีปากกล้าอีกคนหนึ่งเขียนไว้ในหนังสือโมริซาดะ มังโกะ



เมื่อราวปี ค.ศ.1852 ว่ามีร้านซูชิในโตเกียวมากกว่าร้านขายก๋วยเตี๋ยวเกือบ 150 ต่อ 1 แผงซูชิพับเก็บได้ คนสองคนช่วยกันหาม ขนย้ายไปไหนมาไหนได้สะดวก แต่ละแผงจะตั้งประจำตำแหน่งเดิมทุกคืน (ร้านปิดตอนกลางวัน) ด้วยเหตุที่พ่อค้าต้องขนอุปกรณ์และวัตถุดิบไปที่ร้านทุกวัน พวกเขาจึงมักจะเปิดร้านใกล้บ้านแถบที่ผู้คนพลุกพล่านบริเวณห้องอาบน้ำสาธารณะ ภัตตาคารหรูๆ จะเสิร์ฟข้าวปั้นที่ใช้อาหารทะเลปรุงสุก

ซึ่งลูกค้าถือว่ามีมูลค่าสูงกว่า แต่แผงริมทางต้องการทำซูชิปริมาณมากๆ ในเวลารวดเร็วจึงไม่อยากเสียเวลาต้มอาหารทะเล เน้นแต่ของดิบ เวลาใช้ปลาที่มีสารพิษสะสมในตัว เช่น ปลาโคก พ่อครัวจะเอาหัวฮอร์สเรดิชบดละเอียด ที่เรียกว่า วาซาบิ ป้ายลงไปแล้วจึงวางปลาทับเพื่อเจือจางความเป็นพิษ บางร้านเทซีอิ๊วไว้ให้ลูกค้าจิ้มแทนรสชาติที่ขาดหายไปเนื่องจากไม่ได้หมักปลาก่อน ช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่กี่ปีมีภัตตาคารซูชิเปิดทั่วโตเกียวถึง 3,000 ร้าน ในจำนวนนี้ 800 แห่งเป็นแผงหาบเร่ข้างทาง แต่ซูชิต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างใหญ่หลวงภายหลังสงคราม เมื่อเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงอย่างรุนแรง เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นถูกระเบิดโจมตีเสียหาย กองทัพอเมริกันซึ่งเข้ายึดครองประเทศประกาศห้ามญี่ปุ่นมีกองเรือน้ำลึก รวมถึงยังได้มีการออกกฎหมายในปี ค.ศ.1947 ห้ามขายอาหารในที่สาธารณะ สมาชิกสมาคมซูชิแห่งโตเกียวรวมตัวกันเรียกร้องให้เทศบาลผ่อนผันข้อห้าม ยอมให้ร้านค้าเปิดขายอาหารได้เสรีโดยใช้ระบบแลกเปลี่ยนสินค้าแทน ลูกค้าจะเอาข้าวสาร 1 ถ้วยไปให้ร้าน (พร้อมจ่ายเงินสดอีกจำนวนหนึ่งไม่มากนัก เรียกว่า "ค่าเครื่องปรุง") เพื่อแลกกับนิงิริ 10 ชิ้นใส่ห่อกลับไปทานที่บ้าน เนื่องจากกฎหมายห้ามญี่ปุ่นมีกองเรือน้ำลึก พ่อครัวจึงต้องพึ่งสัตว์น้ำที่หาได้จากแม่น้ำลำคลองไม่กี่อย่าง บ่อยครั้งกุ้งหอยปูปลาที่มียังไม่พอทำหน้าข้าวปั้น 10 ชนิดเลย เพราะฉะนั้น จึงต้องเสิร์ฟข้าวปั้นหน้าเดียวกันให้ลูกค้าอย่างละ 2 ชิ้น พ่อค้าซูชิในต่างจังหวัดเริ่มเคลื่อนไหวขอร้องเทศบาลให้ผ่อนผันยอมให้ใช้วิธีรับจ้างผลิตทำนองนี้บ้าง และหันมาทำนิงิริแบบเอโดะมากขึ้นเพราะแบ่งเป็นคำๆ ได้ง่าย กระตุ้นให้นิงิริแพร่หลายกลายเป็นซูชิญี่ปุ่นที่คนรู้จักมากที่สุด และการเสิร์ฟนิงิริเป็นชุด ชุดละ 10 ชิ้น หน้าละ 2 ชิ้นก็ได้กลายเป็นมาตรฐานการเสิร์ฟข้าวปั้นในเวลาต่อมา พ่อครัวนิยมใช้ปลาดิบทำซูชิมากขึ้นเพราะว่าสะดวก ตู้เย็นไฟฟ้าเข้ามาแทนที่กระติกน้ำแข็งในช่วงทศวรรษ 1950 ความจำเป็นเดิมในการทำซูชิ-เพื่อถนอมปลาไม่ให้เสีย-ค่อยๆ หมดความหมาย ถึงข้าวจะปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชูแต่ซูชิก็แทบไม่มีรสชาติของหมักดองหลงเหลืออยู่ พ่อครัวบางคนถึงกับเลิกทำซูชิส่งตามบ้าน เพราะเชื่อว่าซูชิจะอร่อยได้รสชาติเต็มที่ต้องรับประทานทันทีเท่านั้น

ตั้งแต่อดีตจนถึงยุคเมจิ ร้านซูชิชั้นเลิศนิยมใช้ปลากระโทงแทงสีน้ำเงินมากกว่าปลาชนิดอื่น ปลาทูน่าถูกจัดอยู่ในกลุ่มปลาราคาถูก ไม่มีคุณภาพเช่นเดียวกับปลาโอ ปลาโคก และปลาซาร์ดีน ซึ่งเนื้ออุดมด้วยไขมัน เมื่อตอนเริ่มนำทูน่ามาทำซูชิใหม่ๆ ในศตวรรษที่ 19 พ่อครัวมักจะต้องเอาเนื้อทูน่าไปแช่ซีอิ๊วก่อน อย่างไรก็ตามสมัยนั้นจะรับประทานแต่เฉพาะเนื้อแดงของทูน่าเท่านั้น เนื้อท้องที่อุดมด้วยไขมันจะถูกตัดทิ้งเอาไปทำอาหารเลี้ยงแมว ที่จริงคำว่า โทโร เพิ่งจะใช้แพร่หลายในทศวรรษ 1920 นี่เอง


ก่อนหน้านั้นเนื้อส่วนนี้ถูกเรียกเสียๆ หายๆ ว่า อาบุ หรือ "มันเยิ้ม" ฟังแล้วไม่ชวนกินเอาเสียจริงๆ จังๆ แต่ระยะเวลาหลายปีที่ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้การยึดครองของสหรัฐได้เปลี่ยนทัศนคติการกินไปมาก "ภายหลังสหรัฐเข้ามายึดครองประเทศ ชาวญี่ปุ่นได้ลิ้มลองรสชาติของสเต๊กซึ่งเลี่ยนมาก อาหารมันๆ เริ่มเป็นที่ถูกปากชาวญี่ปุ่น" ทสึเนโนริ ไออิดะ พ่อค้าขายส่งปลาในตลาดทสึกิจิกล่าว ไม่นานหลังจากนั้นลิ้นชาวโตเกียวเริ่มขยับใกล้เคียงกับรสนิยมของชาวพาริเซียนและชาวชิคาโก พวกเขาถือว่าอาหารมันๆ มีแคลอรีสูงเป็นของโก้หรูไม่ต่างอะไรกับตับห่าน ช็อกโกแลต เนยแข็ง หรือเนื้อสเต๊ก


ในทศวรรษ 1960 ภัตตาคารเริ่มเรียกร้องให้บริษัทผู้จัดจำหน่ายสรรหาเนื้อปลาส่วนที่เรียกว่า โทโร มาจากชื่อเต็มๆ ว่า โทโร-เครุ หรือ "ละลายบนลิ้น" ส่งให้มากขึ้น อาคามิหรือทูน่าเนื้อแดงที่เคยมีราคาแพงที่สุด กลับกลายเป็นส่วนที่ถูกที่สุด ส่วนโอ-โทโร หรือเนื้อท้อง ซึ่งอุดมด้วยไขมันมากที่สุดและเคยมีราคาถูกที่สุดกลับตาลปัตรกลายเป็นสุดยอดเนื้อปลาดิบราคาแพง การเดินทางของปลาทูน่าสดๆ จากมหาสมุทรที่อยู่ไกลคนละทวีปมาถึงภัตตาคารในโตเกียวชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียวก็เป็นเรื่องน่าทึ่งทางโลจิสติกส์ ซึ่งเราจะพูดถึงในบทต่อๆ ไป ความพลิกผันของซูชิและเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจยังมีให้ติดตามอีกมากมายเมื่อซูชิสไตล์โตเกียวแพร่หลายไปนอกประเทศ พร้อมๆ กับการเดินทางไปตั้งรกรากของพ่อครัวญี่ปุ่นในต่างแดน เมื่อญี่ปุ่นเปิดฉากรุกรานประเทศเพื่อนบ้านในสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อครัวจำนวนมากมีโอกาสเดินทางไปตั้งรกรากหรือทำธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั้งใกล้และไกล ซูชิแพร่หลายไปทั่วทั้งในสหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา อินเดีย และจีน เดี๋ยวนี้เชฟซูชิกลายเป็นคนดังระดับโลกไม่แพ้บรรดาลูกค้าของพวกเขาเอง



คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ซูชิ (The Sushi Economy) ของ Sasha Issenberg เรียบเรียงโดย อรนุช อนุศักดิ์เสถียร วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4088

หอเอฟเฟล (Tour Eiffel)




เมื่อฝรั่งเศสรับหน้าที่ประธานสหภาพยุโรปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2008 เทศบาลกรุงปารีสมิได้นิ่งนอนใจ หากได้ริเริ่มกิจกรรมที่สอดคล้องกับการเมืองระดับชาติ ด้วยการจำลองแผนที่ยุโรป แสดงเขตแดนของประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป พร้อมบ่งบอกชื่อเมืองหลวง จำนวนประชากร จำนวนสมาชิกรัฐสภายุโรป และนำไปติดตั้งที่สนามหญ้าของชองป์-เดอ-มาร์ส (Champ-de-Mars) อันเป็นทัศนียภาพที่ต่อเนื่องไปจาก
หอเอฟเฟล (Tour Eiffel) ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มลาการ์แดร์ (Groupe Lagardere) แผนที่ดังกล่าวมีขนาด 55x25 เมตร ให้ความรู้แก่ชนทั้งมวลที่มุ่งไปชมหรือบังเอิญผ่านไป ไม่แต่เพียงเท่านั้น เทศบาลกรุงปารีสยังแต่งไฟให้หอเอฟเฟลเสียใหม่ โดยให้เป็นสีฟ้า อันเป็นสีของสหภาพยุโรป แถมตรงกลางยังติดดาวสีเหลือง 27 ดวง เท่าจำนวนสมาชิกสหภาพยุโรป เมื่อได้เวลาจะเปิดไฟให้กะพริบๆ สวยแปลกตาทีเดียว





หอเอฟเฟลเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของกรุงปารีส นักท่องเที่ยวที่มาเยือนกรุงปารีส จำต้องไปหา "คุณหญิงเหล็ก" (dame de fer) อันเป็นคำที่ชาวฝรั่งเศสเรียกหอเอฟเฟล เนื่องจากว่าหอเอฟเฟลใช้เหล็กท่อนประกอบขึ้นเป็นหอสูง ออกแบบโดยกุสตาฟ เอฟเฟล (Gustave Eiffel) วิศวกรหัวก้าวหน้าในยุคนั้น


เมื่อแรกสร้างเสร็จนั้น ชาวฝรั่งเศสไม่ได้ชื่นชอบหอเอฟเฟลเลย เห็นเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าเกลียดที่มาตั้งตระหง่านในเมืองแสนสวย ถึงกระนั้นก็ขอไปชมสักครั้ง หอเอฟเฟลกลายเป็นความตื่นตาตื่นใจที่ใครๆ ต้องมุ่งมา ทุกครั้งที่ผ่านไปยังย่านโทรกาเดโร (Troadero) เป็นต้องขอชมความสง่างามของหอเอฟเฟลที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับงานเอกซ์โปนานาชาติปี 1889 การคำนึงถึงภูมิสถาปัตย์ ไม่มีสิ่งปลูกสร้างอื่นที่จะมาข่ม ทำให้หอเอฟเฟลโดดเด่น ยิ่งเมื่อเดินอยู่ข้างใต้หอ เห็นเส้นเหล็กไขว้ไปมาสวยงามยิ่ง กุสตาฟ เอฟเฟลไม่ได้คิดว่าหอที่เขาออกแบบและสร้างสำหรับงานเอกซ์โปนานาชาติในปี 1889 จะกลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่ถาวร จนบัดนี้ "คุณหญิงเหล็ก" แห่งกรุงปารีสมีอายุกว่าร้อยปีแล้ว และยังดูสง่างามดุจเดิม ถึงกระนั้นใช่ว่าจะไม่ทรุดโทรมตามกาลเวลา ประกอบกับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยียนหอเอฟเฟลมีจำนวนมากขึ้น จำต้องมีการปรับปรุงในปี 1983 Societe nouvelle d'exploitation de la Tour Eiffel


ซึ่งได้รับสัมปทานในการบริหารหอเอฟเฟลจากเทศบาลกรุงปารีส จะติดตั้งลิฟต์ไฟฟ้าแทนลิฟต์ไฮโดรลิกซึ่งเชื่อมระหว่างชั้นสองและชั้นสาม จึงถือโอกาสถอดบันไดที่เป็นสนิมและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ บันไดนี้ยาว 160 เมตร หนัก 6.5 ตัน จำต้องมอบหมายให้ช่างเหล็กมาตัดออกเป็นชิ้นๆ และแถมบันไดเก่านี้ให้ด้วย ช่างเหล็กสมองใส นำบันไดแต่ละท่อนไปขายในราคาแพงลิบ ด้วยว่า ผู้รักของเก่ามีอยู่ทั่วไป ยิ่งเป็นส่วนหนึ่งของ สถาปัตยกรรมโลกแล้ว มีหรือจะมองเมิน บันไดของ "คุณหญิงเหล็ก" ถูกตัดออกเป็น 24 ชิ้น รัฐบาลฝรั่งเศสเก็บไว้ 4 ชิ้น ชิ้นหนึ่งอยู่ที่ชั้นสองของหอเอฟเฟลเอง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เหล็กใกล้เมืองนองซี (Nancy) และ Cite de la Villette อีก 20 ชิ้นนำออกประมูลขายในปี 1983 การประมูลจัดขึ้นที่ชั้นสองของหอเอฟเฟล กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก สถานีโทรทัศน์จาก ประเทศต่างๆ 23 แห่งส่งนักข่าวมาทำข่าวนี้ สถานีโทรทัศน์ของแคนาดาถึงกับเช่า ดาวเทียมเพื่อทำการถ่ายทอดสด





ยังจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ โดยเฝ้าดูข่าวทางสถานีโทรทัศน์ นึกแปลกใจว่าแค่เศษเหล็กเป็นสนิมก็ตื่นเต้นกันอยู่ได้ หากในภายหลังตระหนักว่าถึงเป็นเพียงเศษเหล็ก หากเป็นเสี้ยวประวัติศาสตร์และอนุสาวรีย์อันยิ่งใหญ่ ความสำคัญย่อมไม่ต่างจากบรรดาปราสาทเก่าที่เศรษฐี ต่างชาติมากว้านซื้อและถอดออกเป็นชิ้นเพื่อชะลอไปติดตั้งใหม่ในประเทศของตน บ้างก็บูรณะเพื่อใช้เป็นที่พำนัก ด้วยเหตุนี้ชิ้นส่วนของหอเอฟเฟลจึงกระจัดกระจายไปยังประเทศต่างๆ กี เบอารต์ (Guy Beart) นักร้องดังของฝรั่งเศสประมูลได้ 2 ชิ้นและนำไปติดตั้งในสวนของเขาที่เมืองการ์ชส์ (Garches) โรลองด์ ซัวเยซ (Roland Soiyez) พ่อค้าขายส่งไอศกรีมประมูลได้ชิ้นหนึ่ง และนำไปตั้งหน้าบ้านทางตอนใต้ของฝรั่งเศส โรลองด์ เนิงเจสเซร์ (Roland Nungesser) นายกเทศมนตรีเมืองโนจองต์-ซูร์-แซน (Nogent-sur-Marne) ต้องการให้เมืองของ ตนเก็บชิ้นส่วน "มรดก" กรุงปารีสยุค Belle Epoque จึงเห็นน้ำพุวัลลาซ (fontaine Wallace) ส่วนหนึ่งของเลส์ อาลส์ (Les Halles) ป้ายสถานีรถไฟใต้ดินซึ่งออกแบบโดยกีมารด์ (Guimard) และล่าสุดคือชิ้นส่วนบันไดหอเอฟเฟล ในแคนาดามีอยู่ประมาณ 3 ชิ้น และอีกหลายชิ้นในสหรัฐ อเมริกา ชิ้นหนึ่งอยู่ในสวนสนุกของดิสนีย์ แลนด์ที่โอลันโด ชิ้นหนึ่งอยู่ในเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่หลงใหลได้ปลื้มกับวัฒนธรรมฝรั่งเศสจึงมีชิ้นส่วนหนึ่งในสวนของมูลนิธิโยชิอิ (Yoshii) ซึ่งรวบรวมของที่ระลึกจากฝรั่งเศส เช่น la Ruche บ้านในย่านมงต์ปาร์นาส (Montparnasse) ซึ่งจิตรกรดังอย่างโมดิกลีอานี (Modigiani) และมาร์ก ชากาล (Marc Chagall) เคยไปพำนัก โชโซ โยชิอิ (Chozo Yoshii) เป็นผู้รักงานศิลป์ของฝรั่งเศส





โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์ ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2547




(HONEY) น้ำผึ้ง ..หวานเป็นยา



น้ำผึ้ง เกิดจากการที่ผึ้งลำเลียงน้ำจากเกสรดอกไม้ที่เป็นน้ำหวานจากธรรมชาติ แล้วใช้กรด Enzyme ในห้องผึ้งเพื่อเปลี่ยนเกสรดอกไม้เหล่านั้นให้เป็นน้ำผึ้ง ดังนั้น น้ำผึ้งจากแต่ละแหล่งจึงแตกต่างกันไปตามวัตถุดิบแต่ละชนิด และน้ำผึ้งที่ได้จากรังผึ้งในป่าใหญ่จึงมีความสมบูรณ์และมีแร่ธาตุอาหารแตกต่างจากผึ้งเลี้ยง

ซึ่งจะมีการเติมน้ำหวานจากน้ำตาลและเกสรเทียมทำให้คุณค่าลดน้อยลงไป น.พ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล เขียนคอลัมน์ แพทย์แผนจีน ลงในเว็บไซต์มูลนิธิหมอชาวบ้าน โดยอ้างถึงคัมภีร์ชื่อ เปิ่น-เฉา-กัง-มู่ ที่เขียนโดย หลี่สือเจิน ว่ามีการกล่าวถึงความแตกต่างของน้ำผึ้งที่ได้จากเกสรดอกไม้ชนิดต่าง ๆ กัน ทำให้มีสรรพคุณแตกต่างกันด้วย เช่น


- น้ำผึ้งจากเกสร ดอกลำไย บำรุงและเลือด บำรุงสมอง ช่วยความจำ ทำให้นอนหลับ

- น้ำผึ้งจากเกสร ดอกลิ้นจี่ แก้กระหาย กระตุ้นน้ำลาย บำรุงหัวใจและไต

- น้ำผึ้งจากเกสร เบญจมาศป่า ขับร้อนขับไฟ ขับลมแก้พิษ น้ำผึ้งจากเกสร อบเชยป่า ขับร้อนกระตุ้นความอยากอาหาร บำรุงม้าม บำรุงประสาท

- น้ำผึ้งจากเกสรของ ส้ม ลดบวม ขับพิษ แก้กระหายน้ำ

มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้งมานาน หลักฐานเก่าแก่สุดที่ถูกค้นพบ คือภาพเขียนผนังถ้ำวาเลนเซียในประเทศสเปนอายุกว่า 10,000 ปี ที่เป็นภาพผู้หญิงกำลังปีนบันไดซึ่งพาดอยู่กับต้นไม้ มือหนึ่งถือตะกร้า อีกมือเอื้อมคว้ารวงผึ้งที่ห้อยอยู่กับกิ่งไม้ อีกหลายชาติมีการบันทึกเรื่องราวของน้ำผึ้งไว้ในประวัติศาสตร์ รวมทั้งในด้านศาสนา โดยความเชื่อฮินดู น้ำผึ้งถือเป็นหนึ่งในยาอายุวัฒนะ และถูกนำมาใช้เพื่อบูชาพระเจ้า ไบเบิลก็เขียนถึงน้ำผึ้งว่าเป็นอาหารที่มีสรรพคุณในทำนองเดียวกัน


ขณะที่พุทธประวัติมีบันทึกเรื่องของน้ำผึ้งว่าเป็นส่วนผสมในข้าวมธุปายาสซึ่งถวายแด่พระพุทธเจ้าช่วยให้พระวรกายของพระองค์กลับมาสมบูรณ์แข็งแรง ในทางการแพทย์อายุรเวทของอินเดียใช้น้ำผึ้งผสมผงอบเชย เพื่อรักษาโรคและบำรุงร่างกายมานานหลายศตวรรษ ด้านตำราจีนของ 'หลี่สือเจิน' บันทึกสรรพคุณ 5 ประการของน้ำผึ้งกล่าวคือ ขับร้อน บำรุงส่วนกลาง (กระเพาะอาหารและม้าม) ขับพิษ รักษาแผล ทำให้ชุ่มชื่นลดความแห้งแก้ไอ และแก้ปวด ขณะที่แพทย์แผนไทยใช้น้ำผึ้งเพื่อช่วยแต่งรสยา ให้ยามีรสอร่อยขึ้นและช่วยชูกำลัง อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในน้ำกระสายยา ที่ช่วยทำให้ตัวยาดูดซึมเร็วขึ้น และยังช่วยกระตุ้นการทำงานของไตและกระจายเลือด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังมากขึ้น บางครั้งน้ำผึ้งถูกนำมาผสมกับยาปั้นเป็นลูกกลอนอีกด้วย


ตำนานและเรื่องเล่าทางศาสนาดูเหมือนจะอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ของยุคปัจจุบัน ซึ่งมีการพิสูจน์แล้วว่า น้ำผึ้งแท้มีองค์ประกอบของน้ำตาล Dextrose และ Fructose ราวร้อยละ 50-90 ที่มีคุณค่าทางโภชนาการและทางยาสูงกว่าน้ำตาล Sucrose ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 0.1-10 นอกจากนี้น้ำผึ้งยังอุดมด้วยวิตามินนานาชนิด เช่น วิตามินบี 1 บี 2 วิตามินอี วิตามินเค และวิตามินซีจากธรรมชาติ รวมทั้งสารอาหารอื่น ๆ ได้แก่ กรดอะมิโน กรดไขมัน และเกลือแร่ต่างๆ อย่างสังกะสี และทองแดง ในอเมริกาและแคนาดา มีการรักษาและป้องกันโรคหัวใจ โดยให้ผู้ป่วยรับประทานขนมปังทาน้ำผึ้งผสมผงอบเชยทุกวัน นอกจากจะช่วยลดคอเลสเตอรอลแล้ว ยังช่วยให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติ ข้อมูลจาก มูลนิธิสุขภาพไทย


มีคำแนะนำเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการรับประทานน้ำผึ้ง ได้แก่


1.ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง ถ้าดื่มโดยผสมน้ำอุ่น จะมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร และทำให้กรดในกระเพาะอาหารเจือจาง ลดการระคายเคือง เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล ถ้าดื่มโดยผสมน้ำเย็นจะมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร รวมทั้งกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้กระตุ้นการถ่ายอุจจาระ


2.ควรดื่มหลังอาหาร 2-3 ชั่วโมง เพราะการดื่มหลังอาหารทันที จะทำให้มีการเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือดให้สูงมากยิ่งขึ้น ทำให้ตับอ่อนทำงานหนัก อีกทั้งจะเป็นการกระตุ้นน้ำย่อยกระเพาะอาหารมากยิ่งขึ้นอีก


3.ควรดื่มก่อนนอน เหมาะสำหรับคนที่ร่างกายไม่แข็งแรง และนอนหลับยาก หวาน อร่อย แถมมีสารพัดสรรพคุณ เทศกาลแห่งความสุขที่กำลังจะมาถึง ถ้ากำลังมองหาของขวัญเพื่อคนพิเศษ น้ำผึ้งจึงอาจเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ






โดย : Healthy Kitty Life Style : กรุงเทพชวนชิม วันที่ 22 ธันวาคม 2552