10 January 2010

หอเอฟเฟล (Tour Eiffel)




เมื่อฝรั่งเศสรับหน้าที่ประธานสหภาพยุโรปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2008 เทศบาลกรุงปารีสมิได้นิ่งนอนใจ หากได้ริเริ่มกิจกรรมที่สอดคล้องกับการเมืองระดับชาติ ด้วยการจำลองแผนที่ยุโรป แสดงเขตแดนของประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป พร้อมบ่งบอกชื่อเมืองหลวง จำนวนประชากร จำนวนสมาชิกรัฐสภายุโรป และนำไปติดตั้งที่สนามหญ้าของชองป์-เดอ-มาร์ส (Champ-de-Mars) อันเป็นทัศนียภาพที่ต่อเนื่องไปจาก
หอเอฟเฟล (Tour Eiffel) ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มลาการ์แดร์ (Groupe Lagardere) แผนที่ดังกล่าวมีขนาด 55x25 เมตร ให้ความรู้แก่ชนทั้งมวลที่มุ่งไปชมหรือบังเอิญผ่านไป ไม่แต่เพียงเท่านั้น เทศบาลกรุงปารีสยังแต่งไฟให้หอเอฟเฟลเสียใหม่ โดยให้เป็นสีฟ้า อันเป็นสีของสหภาพยุโรป แถมตรงกลางยังติดดาวสีเหลือง 27 ดวง เท่าจำนวนสมาชิกสหภาพยุโรป เมื่อได้เวลาจะเปิดไฟให้กะพริบๆ สวยแปลกตาทีเดียว





หอเอฟเฟลเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของกรุงปารีส นักท่องเที่ยวที่มาเยือนกรุงปารีส จำต้องไปหา "คุณหญิงเหล็ก" (dame de fer) อันเป็นคำที่ชาวฝรั่งเศสเรียกหอเอฟเฟล เนื่องจากว่าหอเอฟเฟลใช้เหล็กท่อนประกอบขึ้นเป็นหอสูง ออกแบบโดยกุสตาฟ เอฟเฟล (Gustave Eiffel) วิศวกรหัวก้าวหน้าในยุคนั้น


เมื่อแรกสร้างเสร็จนั้น ชาวฝรั่งเศสไม่ได้ชื่นชอบหอเอฟเฟลเลย เห็นเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าเกลียดที่มาตั้งตระหง่านในเมืองแสนสวย ถึงกระนั้นก็ขอไปชมสักครั้ง หอเอฟเฟลกลายเป็นความตื่นตาตื่นใจที่ใครๆ ต้องมุ่งมา ทุกครั้งที่ผ่านไปยังย่านโทรกาเดโร (Troadero) เป็นต้องขอชมความสง่างามของหอเอฟเฟลที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับงานเอกซ์โปนานาชาติปี 1889 การคำนึงถึงภูมิสถาปัตย์ ไม่มีสิ่งปลูกสร้างอื่นที่จะมาข่ม ทำให้หอเอฟเฟลโดดเด่น ยิ่งเมื่อเดินอยู่ข้างใต้หอ เห็นเส้นเหล็กไขว้ไปมาสวยงามยิ่ง กุสตาฟ เอฟเฟลไม่ได้คิดว่าหอที่เขาออกแบบและสร้างสำหรับงานเอกซ์โปนานาชาติในปี 1889 จะกลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่ถาวร จนบัดนี้ "คุณหญิงเหล็ก" แห่งกรุงปารีสมีอายุกว่าร้อยปีแล้ว และยังดูสง่างามดุจเดิม ถึงกระนั้นใช่ว่าจะไม่ทรุดโทรมตามกาลเวลา ประกอบกับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยียนหอเอฟเฟลมีจำนวนมากขึ้น จำต้องมีการปรับปรุงในปี 1983 Societe nouvelle d'exploitation de la Tour Eiffel


ซึ่งได้รับสัมปทานในการบริหารหอเอฟเฟลจากเทศบาลกรุงปารีส จะติดตั้งลิฟต์ไฟฟ้าแทนลิฟต์ไฮโดรลิกซึ่งเชื่อมระหว่างชั้นสองและชั้นสาม จึงถือโอกาสถอดบันไดที่เป็นสนิมและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ บันไดนี้ยาว 160 เมตร หนัก 6.5 ตัน จำต้องมอบหมายให้ช่างเหล็กมาตัดออกเป็นชิ้นๆ และแถมบันไดเก่านี้ให้ด้วย ช่างเหล็กสมองใส นำบันไดแต่ละท่อนไปขายในราคาแพงลิบ ด้วยว่า ผู้รักของเก่ามีอยู่ทั่วไป ยิ่งเป็นส่วนหนึ่งของ สถาปัตยกรรมโลกแล้ว มีหรือจะมองเมิน บันไดของ "คุณหญิงเหล็ก" ถูกตัดออกเป็น 24 ชิ้น รัฐบาลฝรั่งเศสเก็บไว้ 4 ชิ้น ชิ้นหนึ่งอยู่ที่ชั้นสองของหอเอฟเฟลเอง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เหล็กใกล้เมืองนองซี (Nancy) และ Cite de la Villette อีก 20 ชิ้นนำออกประมูลขายในปี 1983 การประมูลจัดขึ้นที่ชั้นสองของหอเอฟเฟล กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก สถานีโทรทัศน์จาก ประเทศต่างๆ 23 แห่งส่งนักข่าวมาทำข่าวนี้ สถานีโทรทัศน์ของแคนาดาถึงกับเช่า ดาวเทียมเพื่อทำการถ่ายทอดสด





ยังจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ โดยเฝ้าดูข่าวทางสถานีโทรทัศน์ นึกแปลกใจว่าแค่เศษเหล็กเป็นสนิมก็ตื่นเต้นกันอยู่ได้ หากในภายหลังตระหนักว่าถึงเป็นเพียงเศษเหล็ก หากเป็นเสี้ยวประวัติศาสตร์และอนุสาวรีย์อันยิ่งใหญ่ ความสำคัญย่อมไม่ต่างจากบรรดาปราสาทเก่าที่เศรษฐี ต่างชาติมากว้านซื้อและถอดออกเป็นชิ้นเพื่อชะลอไปติดตั้งใหม่ในประเทศของตน บ้างก็บูรณะเพื่อใช้เป็นที่พำนัก ด้วยเหตุนี้ชิ้นส่วนของหอเอฟเฟลจึงกระจัดกระจายไปยังประเทศต่างๆ กี เบอารต์ (Guy Beart) นักร้องดังของฝรั่งเศสประมูลได้ 2 ชิ้นและนำไปติดตั้งในสวนของเขาที่เมืองการ์ชส์ (Garches) โรลองด์ ซัวเยซ (Roland Soiyez) พ่อค้าขายส่งไอศกรีมประมูลได้ชิ้นหนึ่ง และนำไปตั้งหน้าบ้านทางตอนใต้ของฝรั่งเศส โรลองด์ เนิงเจสเซร์ (Roland Nungesser) นายกเทศมนตรีเมืองโนจองต์-ซูร์-แซน (Nogent-sur-Marne) ต้องการให้เมืองของ ตนเก็บชิ้นส่วน "มรดก" กรุงปารีสยุค Belle Epoque จึงเห็นน้ำพุวัลลาซ (fontaine Wallace) ส่วนหนึ่งของเลส์ อาลส์ (Les Halles) ป้ายสถานีรถไฟใต้ดินซึ่งออกแบบโดยกีมารด์ (Guimard) และล่าสุดคือชิ้นส่วนบันไดหอเอฟเฟล ในแคนาดามีอยู่ประมาณ 3 ชิ้น และอีกหลายชิ้นในสหรัฐ อเมริกา ชิ้นหนึ่งอยู่ในสวนสนุกของดิสนีย์ แลนด์ที่โอลันโด ชิ้นหนึ่งอยู่ในเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่หลงใหลได้ปลื้มกับวัฒนธรรมฝรั่งเศสจึงมีชิ้นส่วนหนึ่งในสวนของมูลนิธิโยชิอิ (Yoshii) ซึ่งรวบรวมของที่ระลึกจากฝรั่งเศส เช่น la Ruche บ้านในย่านมงต์ปาร์นาส (Montparnasse) ซึ่งจิตรกรดังอย่างโมดิกลีอานี (Modigiani) และมาร์ก ชากาล (Marc Chagall) เคยไปพำนัก โชโซ โยชิอิ (Chozo Yoshii) เป็นผู้รักงานศิลป์ของฝรั่งเศส





โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์ ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2547




No comments:

Post a Comment